การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพได้ผ่านไปแล้ว หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ รายงานเหตุการณ์ตรงกันว่า ในการออกเสียงเลือกตั้งนั้นชุมไปด้วยเรื่องของพลร่มและไพ่ไฟซึ่งหมายความว่า ชุมไปด้วยการใช้สิทธิออกเสียงที่ทุจริต ตำราวิชาการเมืองทุกเล่มที่บรรยายถึงเรื่องประชาธิปไตยจะต้องกล่าวถึงการเลือกตั้งว่าเปนปัจจัยสำคัญของประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ว่านั้นหมายถึง free election คือ ราษฎรจะต้องออกเสียงเลือกตั้งได้โดยเสรี ปราศจากการบังคับข่มขู่จากทางหนึ่งทางใด นอกจากนั้น ตำราต่าง ๆ ก็อธิบายถึงวิธีการเลือกตั้งนานาประการที่จะให้การเลือกตั้งนั้นได้บรรลุผลข้อที่ว่า เปนการปกครองโดยประชาชนหรือเปนการปกครองโดยเสียงข้างมากจริง ๆ
อย่างไรก็ดี ในตำราวิชาการเมืองเหล่านั้นถึงจะได้บรรยายเรื่องการเลือกตั้งไว้มากมายเพียงใด ผู้เขียนก็ยังไม่เคยพบตำราเล่มใดที่ได้อธิบายถึงการป้องกันเรื่องพลร่มและไพ่ไฟ ดังที่เปนโรคบาดทะยักของการเลือกตั้งของประชาธิปไตยสยาม การที่เจ้าตำราไม่เขียนอธิบายถึงเรื่องพลร่มและไพ่ไฟไว้เลย ก็เห็นจะเปนด้วยท่านเหล่านั้นเหลือที่จะนึกเห็นไปได้ว่า อุบายทุจริตคดในรูปเช่นนั้นจะอุบัติขึ้นได้ อย่างไรในประเทศที่ต้องการจะเปนประชาธิปไตยโดยน้ำใส่ใจจริง
แท้ที่จริงเรื่องพลร่มและไพ่ไฟนั้น ก็ไม่ควรจะนำไปบรรจุไว้ในตำราวิชาการเมืองใด ๆ เลย เพราะว่าในประการแรก เรื่องดังกล่าวนั้นจะบังเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากความริเริ่มชักจูงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในประเทศประชาธิปไตยนั้นก็จะต้องสันนิษฐานด้วยการให้ความเชื่อถือว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยนั้น ก็จะต้องสันนิษฐานด้วยการให้ความเชื่อถือว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งอาสาเข้ามาทำการรับใช้บ้านเมืองและประชาชนนั้นจะต้องเปนผู้มีจิตต์ อยู่เหนือระดับความคิดที่จะหันเข้าใช้อุบายทุจริตคดโกง อันเปนเรื่องของคนที่มีจริตสันดานของคนร้าย แต่ถ้าระดับแห่งจิตต์ใจของผู้อาสาสมัครทำการเพื่อชุมชนตกต่ำไปถึงคั่นของคนร้ายแล้ว ก็แทบเปนการพ้นวิสัยที่ประชาธิปไตยจะก่อตั้งขึ้นมาได้ในท่ามกลางจิตต์ใจเช่นนั้น
ประชาชนไทยจะยังคงมีความหวังในระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้ หากว่าการใช้อุบายทุจริตในเรื่องพลร่มและไพ่ไฟนั้นเกิดจากการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งเปนส่วนเล็กน้อยเท่านั้น และเราก็หวังว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนมากได้ดำเนินการต่อสู้โดยวิถีทางอันชอบด้วยกฎหมาย ข้อที่น่าพิศวงก็คือ เรื่องพลร่มและไพ่ไฟนี้เปนเรื่องที่ได้พูดกันมานานแล้ว และก็เปนเรื่องที่อยู่ในวิสัยจะป้องกันได้ไม่ยาก ถ้ากระทรวงมหาดไทยผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้จะถือว่าเรื่องเช่นนี้เปนโรคบาดทะยักของประชาธิปไตย และได้ลงมือชำระล้างระเบียบการปฏิบัติในเรื่องเลือกตั้งอย่างจริงจังเสียที ถ้ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งกรรมการขึ้นศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจะได้ทำการศึกษาอย่างกว้างขวางจริงจังและใช้เวลานานพอ...[ต้นฉบับขาด]...จะสอบสวนพฤตติการณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงเสนอรายงานให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการปฏิบัติต่อไป
เราคิดว่าการโค่นรากความทุจริตในการเลือกตั้งจะไม่เปนงานที่เกินสติปัญญาของมนุษย์แต่อย่างใด
การเลือกตั้งเปนตัวจักรใหญ่ของประชาธิปไตย หากตัวจักรนั้นทำงานไม่ได้ผล ประชาธิปไตยก็ล้มเหลว เราจึงหวังว่ากระทรวงมหาดไทยจะพากเพียรกำจัดกวาดล้างความทุจริตในการเลือกตั้งให้สำเร็จจงได้
การใช้จ่ายเงินของราษฎร
ในการเสนองบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เข้ารับการพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น หัวหน้าและสมาชิกชั้นหัวหน้าของฝ่ายค้านได้คัดค้านงบประมาณของรัฐบาลแข็งแรง ข้อคัดค้านนั้นสรุปลงได้ว่า ฝ่ายค้านไม่พอใจเลยที่รัฐบาลได้ตั้งเงินใช้จ่ายในงบการทหารและการตำรวจมากมายเกินไป นายใหญ่ ศวิตชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เงินที่รัฐบาลเก็บมาจากเหงื่อไคลของราษฎรนั้นได้ถูกใช้ไปเพื่อบำรุงราษฎรเพียง ๒๕% ในขณะเดียวกันได้ใช้จ่ายไปในการปราบการจลาจลถึง ๒๓% นายใหญ่กล่าวว่ารัฐบาลตั้งการใช้จ่ายบำรุงกำลังต่าง ๆ นั้นเปนการตั้งงบประมาณป้องกันตนเอง เพื่อสวัสดิภาพของตนเอง และนายกรัฐมนตรีได้ให้คำเตือนแก่นายใหญ่ให้สังวรณ์ถ้อยคำเพราะการพูดเช่นนั้นจะเปนชะนวนให้เกิดปฏิวัติ
นอกจากการเสนองบประมาณประจำปี ๒๔๙๓ รัฐบาลยังได้เสนองบประมาณเพิ่มเติมประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๒ อีก ๑๘๘ ล้านบาทเศษ ในจำนวนงบประมาณเพิ่มเติมนี้เปนค่าใช้จ่ายในการรักษาความสงบอย่างเดียว ๖๒ ล้านบาทเศษ ในงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้มีรายจ่ายในการรักษาความสงบตั้งไว้แล้ว ๑๘ ล้านบาท เมื่อรวมกับที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมก็แปลว่าเมื่อปีที่แล้วประเทศหรือราษฎรต้องจ่ายค่ารักษาความสงบเปนเงินถึง ๘๐ ล้านบาทเศษ การใช้จ่ายดังกล่าวนี้เปนเพียงการใช้จ่ายวิสามัญ นอกไปจากการใช้จ่ายสามัญที่ตั้งไว้แล้วในงบประมาณปรกติ การศึกษาซึ่งรัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ว่าจะถือการส่งเสริมและบำรุง “เปนสิ่งสำคัญอันดับแรก” นั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มีงบประมาณใช้จ่าย ๙๔ ล้านบาท ไม่มากไปกว่าค่าใช้จ่ายรักษาความสงบฉะเพาะในงบวิสามัญ ๘๐ ล้านบาทเศษเท่าใด อนึ่ง การใช้จ่ายเงินงบพิเศษซึ่งเปนเงินก้อนใหญ่ถึง ๘๐ ล้านบาทเศษนั้นก็ไม่อยู่ในวิสัยที่สภาจะสอดส่องควบคุมได้ว่าได้ใช้จ่ายในทางสมควรหรือไม่สมควรอย่างไร เพราะไม่มีการแสดงรายการใช้จ่ายลงไว้ ฉะนั้นการที่ฝ่ายค้านแสดงการตำหนิทักท้วงการตั้งรายจ่ายการทหารการตำรวจไว้มากมาย และแสดงความห่วงใยว่าการทำนุบำรุงราษฎรไม่ได้รับความเหลียวแลเพียงพอนั้น ก็เปนข้อทักท้วงที่มีเหตุผลอยู่
นอกจากนั้นยังมีผู้ตำหนิว่าในวงราชการบางแห่งมักจะใช้เงินของแผ่นดินหรือของราษฎรกันอย่างไม่ปราณีต่อปวงราษฎรเลย เช่นการใช้จ่ายในการเลี้ยงโต๊ะเสพย์สุราและบริโภคอาหารดี ๆ ของฝ่ายที่มีกำลังอาวุธต่าง ๆ โดยข้ออ้างว่าเลี้ยงเพื่อเชื่อมสามัคคีซึ่งจัดให้มีออกจะถี่อยู่สักหน่อยนั้น ปวงราษฎรก็อดที่จะมองดูด้วยนัยน์ตาปริบ ๆ ไม่ได้ ถ้าใช้ตรรกญาณแล้ว การเลี้ยงเพื่อเชื่อมสามัคคีเหล่านั้นฟังเข้าใจได้ยากเต็มที เมื่อฝ่ายกำลังต่าง ๆ เกิดแตกแยกแคลงใจกันอันเกิดแต่การกระทำของกำลังเหล่านั้นเอง เหตุไฉนจึงจะมารวบรวมเงินของราษฎรผู้ออกเหงื่อทำมาหากินโดยสุจริตขอบธรรม เอาไปกินโต๊ะเสพย์สุรากันเล่า ลอจิกเรื่องเก็บเงินจากราษฎรไปเลี้ยงโต๊ะกันบรรดาผู้ถืออาวุธทุกคราวที่คนเหล่านั้นเกิดวิวาทกันขึ้นมานั้น เปนลอจิกที่สามัญชนคนเดินถนนฟังไม่เข้าใจจริง ๆ
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ความทุจริตในการเลือกตั้ง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 317-318.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ความทุจริตในการเลือกตั้ง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 319-323.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร
- ตอนที่ 29 - ความเปื่อยผุในวงการปกครอง