เมื่อนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์นักข่าวหนังสือพิมพ์ ณะ ทำเนียบรัฐบาลวันที่ ๒๗ สิงหาคม ซึ่งเปนการแถลงกิจการของประเทศหลายเรื่องและใช้เวลานาน ผู้เขียนได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ในเวลานั้นก็ทราบแต่ใจความของเรื่อง ต่อมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนได้รับหนังสือพิมพ์ข่าวโฆษณาการของกรมโฆษณาการ ได้อ่านรายละเอียดของสัมภาษณ์เรื่องนั้น และได้พบข้อความที่น่าสนใจบางตอน เช่น ตอนที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงความคิดที่จะให้ข้าราชการเริ่มทำงานแต่ ๘ น. นั้น ท่านได้ชี้แจงว่า :
“เวลานี้เราติดต่อกับต่างประเทศมากมีองค์การต่าง ๆ มาประชุมในประเทศเรา เช่น F.A.O., ECAFE เปนต้น เมื่อเขาถามเรา เราไม่สามารถจะทำรายละเอียดหรือทำข้อชี้แจงให้องค์การเหล่านี้เข้าใจได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเหตุว่าการงานต่าง ๆ ของเราเก่าไปหมด และเราไม่ได้รวบรวมให้ทันสมัย ที่ข้าพเจ้าว่างานของเราล้าสมัยนั้นคือ เปนงานที่ไม่มีโครงการและไม่มีตัวเลขที่ละเอียดละออเพียงพอ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะกู้เงินเขาสัก ๔๐๐ ล้านดอลลาร์ เขาถามว่าจะเอามาทำไม เราก็จะบอกว่าจะเอามาทำไฟฟ้าน้ำตก เขาถามว่าจะเอากำลังไฟฟ้าเท่าไร เราก็ตอบไปว่าแสนกิโลวัต เขาถามว่าจะใช้ทำอะไรบ้าง เราตอบว่าจะใช้ทำนาบ้าง เดินรถไฟบ้าง เขาถามว่าเวลานี้แสงสว่างใช้อยู่ที่กิโลวัต เราก็บอกว่าพอจะตอบได้ในกรุงเทพ เขาถามว่าหลาย ๆ จังหวัดกี่กิโลวัต แต่ตัวเลขของเราไม่มี ก็ตอบไม่ได้ แล้วเขาถามว่า ปีหน้าจะเพิ่มที่กิโลวัต เพราะเหตุพลเมืองเพิ่มขึ้นปีละเท่าไร และในระยะ ๑๐ ปีเราจะใช้แสงสว่างกี่กิโลวัต เหล่านี้ เราก็ไม่มีตัวเลข
ที่นี้เขาถามว่าเวลานี้มีโรงงานชนิดไหน ประเภทใดใช้อยู่แล้วบ้าง และจะใช้กำลังกี่กิโลวัต และอีกกี่ปีโรงงานชนิดไหนจะเพิ่ม และโรงงานใดจะใช้แรงไฟเท่าไร เราก็ไม่รู้จะหาตัวเลขที่ไหนมาให้เขา และนอกนั้น เราก็จะต้องแก้ให้เดินคู่ไปกับความเจริญและประชาชน เขาก็ถามว่าประชาชนคนไทยจะเจริญในทางต้องการอะไรจากโรงงาน เราก็ตอบยากเพราะไม่มีสถิติ จะต้องการลิพสติก เสื้อผ้าหรือพลาสติก เราก็ตอบว่าคนของเราต้องการเครื่องอุปโภคบริโภค เขาก็ถามว่า เครื่องบริโภคเราจะเอาช้อนเอาซ่อมหรืออะไร
นอกจากนั้นในเรื่องคนทำงานเขาถามว่าท่านมีคนพอที่จะทำงานเหล่านี้ไหม เราก็บอกว่ามี ๑๘ ล้านคน เขาก็บอกว่า ๑๘ ล้านคนใช้ไม่ได้ เพราะเด็กต่ำกว่า ๑๐ ขวบและคนแก่อายุกว่า ๖๐ ปีทำงานไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเด็กมีเท่าใด คนแก่มีเท่าใดและคนอายุระหว่าง ๑๐ กับ ๖๐ มีเท่าไร แต่ถ้าเราจะบอกว่าในราว ๑๐ ล้าน เขาก็ว่า ๑๐ ล้านมาทำอุตสาหกรรมทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะต้องแบ่งเปนอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและทำงานเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ อีก ดังนี้ที่รู้สึกว่า เมื่อเกิดมีการคิดกันขึ้นแล้ว เราก็หาตัวเลขไม่ค่อยได้…”
การที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงถึงความไม่มีหลักของการปฏิบัติราชการออกมาตรง ๆ เช่นนี้ ก็เปนข้อน่ายินดีอย่างหนึ่ง แต่เราก็จะต้องรับว่า คนภายนอกราชการคงจะมีความพิศวงงงงวยไม่น้อยที่ได้ทราบจากปากของนายกรัฐมนตรีเองว่า ได้มีความอ่อนแอถึงปาน ดังนี้ในวงราชการของไทย คำไล่เลียงของฝรั่งและคำตอบของราชการไทยได้แสดงอยู่ในตัวเองแล้วว่า ความอ่อนแอนั้นได้มีอยู่ในขนาดหนักเพียงใด เมื่อเขาถามถึงว่า ประชาชนไทยประสงค์จะได้อะไรจากการที่จะตั้งโรงงานและราชการไทยได้ตอบเขาไปว่า “คนของเราต้องการเครื่องอุปโภคบริโภค” ก็จะมีคนชาติใดในโลกนี้เล่าที่ไม่ต้องการเครื่องอุปโภคบริโภค คำตอบเช่นนี้ ควรเห็นได้ง่าย ๆ ว่าเปนคำตอบที่มีค่าเท่ากับไม่ได้ตอบอะไรเลย ในวงราชการของเรามีความถนัดในการให้คำตอบอย่างมักง่ายเช่นนี้แก่ประชาชนไทยอยู่เสมอ ฉะนั้นก็ติดเปนนิสสัยจนกระทั่งไปตอบกับฝรั่งเขาเข้า เขาจึงต้องให้บทเรียนเหมือนที่จะพึงให้แก่เด็กเล็กคนหนึ่ง
ความอ่อนแอ ความไม่มีหลัก ความไม่มีระเบียบของวงราชการไทยนั้น ได้มีคนไทยผู้สนใจศึกษากิจการของประเทศและของโลกได้เขียนวิจารณ์ตักเตือนรัฐบาลเปนครั้งคราวตลอดมา แต่รัฐบาลก็ไขหูเสีย และในวันดีคืนดีวันหนึ่ง นายกรัฐมนตรียังกลับพูดตวาดออกมาทางวิทยุกระจายเสียงอีกว่า จะไม่ขอฟังใครทั้งนั้น นอกจากนาย เชิชชิลคนเดียว แต่ก็เปนการเคราะห์ร้ายอยู่หน่อยที่นายเชิชชิลก็มีภาระหนักอยู่ ในเรื่องคิดโค่นรัฐบาลของนายแอ็ตลีจึงยังไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรแก่รัฐบาลไทยในเรื่องความอ่อนแอนานาประการเหล่านี้ จนพวกฝรั่งกลุ่มหนึ่งได้มาพบเข้าและคงจะได้ให้คำแนะนำตักเตือนแก่รัฐบาลไทยแทนนายเชิชชิลไว้แล้ว นายกรัฐมนตรีจึงยอมให้คำสารภาพลงไว้
แต่ว่าในครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีได้เคยพูดว่า ราชการของท่านมีเครื่องมือถึง ๓ แสนเครื่อง ผู้ใดที่อยู่นอกวงราชการไม่มีเครื่องมือขนาดนั้นอย่าได้คิดอ่านมาออกความเห็นติเตียนราชการเลย ในครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีได้พูดตำหนิผู้ที่สนับสนุนการทำงานโดยใช้แผนการโครงการที่แน่นอน คำพูดของนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นแปลความได้ว่า แผนการโครงการหรือการกล่าวอ้างตำรานั้นเปนสิ่งไม่มีค่าอะไร สิ่งที่มีค่าในสายตาของท่านนั้นดูเหมือนจะเปนเรื่องการจับโน่นชนนี่ล้มอ้ายนั่นตั้งอ้ายนี่ พอให้ส่วนต่าง ๆ ประกบประกอบกันได้ชั่วขณะหนึ่งคราวหนึ่ง เพื่อที่จะให้รัฐบาลตั้งอยู่ไปได้โดยมิพักต้องคำนึงถึงหลักความมั่นคงถาวรในทางไกลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในคำสัมภาษณ์ที่ให้แก่ชุมนุมนักข่าวหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม นายกรัฐมนตรีได้ยอมรับว่า “งานต่าง ๆ ของเราเก่าไปหมด งานของเราล้าสมัย คือเปนงานที่ไม่มีโครงการ” เพราะเหตุว่า คำไล่เลียงของฝรั่งได้มาสอนให้ท่านซึมทราบขึ้นว่า งานที่ไม่มีระเบียบโครงการก็ย่อมจะเฟะดังที่เฟะอยู่ในบัดนี้ แต่เมื่อคนไทยออกความเห็นในเรื่องเหล่านี้ ท่านก็หัวเราะเยาะตลอดมา
เราจึงใคร่จะชี้ไว้ในที่นี้ว่า เวลาอันผาสุกของชนชั้นปกครองกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสืบต่อกันมาแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนภายหลังการเปลี่ยนการปกครองก็ยังเปนการปกครองของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งตลอดมานั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เวลาอันรื่นเริงบันเทิงใจของชนชั้นปกครองนี้เพียงแต่จะใช้วิธีการจับแพะชนแกะก็ได้รับขนานนามว่าเปนรัฐบุรุษ และสามารถปกครองบ้านเมืองได้นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว นับแต่การอุบัติของสงครามโลกครั้งที่สอง โลกภายหลังสงครามเต็มไปด้วยความยากลำบากสาหัสและมีปัณหาสลับซับซ้อนนานาประการ ประเทศไทยก็ต้องรับความทุกข์ยากที่สงครามนำมาให้ตามส่วน การแก้ปัญหาต่าง ๆ จะใช้แต่เพียงคอมมอนเซ้นส์ประกอบด้วยคำโอ้โลมอันไร้สาระหรือบารมีส่วนตัวอันไร้คุณค่าแท้จริงดังแต่ก่อน ย่อมไม่มีทางไปสู่ความสำเร็จได้
ความทุกข์ยากได้กระตุ้นให้ประชาชนเอาใจใส่ต่อการบ้านเมืองทวีขึ้นเปนลำดับ ความทุกข์ยากได้สอนประชาชนด้วยของจริงว่า คณะบุคคลที่สมควรจะได้รับมอบให้ปกกรองประเทศนั้น จำเปนจะต้องมีความคงแก่เรียนและปัญญาอันสุขุมคัมภีรภาพขนาดไหน การปกครองอย่างสดวกดายแบบชุบมือเปิบในอดีตได้ถึงกาลอวสานแล้ว และจะไม่กลับมาผุดเกิดใหม่อีกแน่นอน
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ความเปื่อยผุในวงการปกครอง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 309-310.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ความเปื่อยผุในวงการปกครอง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 311-315.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร