การจับฝิ่นเถื่อนหนัก ๕ ตันมีราคา ๑๐ ล้านกว่าบาท ซึ่งตำรวจกองตรวจเหนือจับได้ที่สถานีท่าแค ลพบุรี เมื่อวันที่ ๑๐ นั้น ผู้เขียนสังเกตว่าเปนข่าวที่มีเชื้อโรคระบาดร้ายแรงจำพวกกาฬโรคอยู่ในข่าวนั้น จึงได้เก็บเรื่องไว้และติดตามอ่านข่าวเป็นลำดับมาจนกระทั่งเช้าวันที่ ๒๒ ได้อ่าน สยามนิกร และพบว่ารองผู้บัญชาการทหารบกพลโทหลวงกาจสงครามได้กล่าวกับนักข่าว สยามนิกร ว่า “รู้ตัวเจ้าของฝิ่นเถื่อนที่เปนข่าวอื้อฉาวอยู่ในเวลานี้ แต่ ‘เขา’ ห้ามไม่ให้พูด”
เมื่อรองผู้บัญชาการทหารบกได้รับออกมาโดยเปิดเผยว่ารู้ตัวเจ้าของฝิ่นเถื่อน ซึ่งเปนผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และซึ่งอธิบดีตำรวจเคยบอกว่าไม่รู้ และในฐานะที่อธิบดีตำรวจเปนประธานเจ้าหน้าที่ผู้เคยตอบไม่รู้ และในฐานะที่อธิบดีตำรวจเปนประธานเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายของบ้านเมืองเปนผู้ที่จะต้องปราบปรามคนร้ายคนทุจริตทั้งหลาย เราจึงเข้าใจว่า ในทันทีที่ท่านได้ทราบว่ารองผู้บัญชาการขอคำให้การในเรื่องนี้ และลงมือจับกุมคนร้ายโดยพลัน, ถ้าจะให้ประชาชนไทยเข้าใจว่าประเทศไทยยังมีอธิบดีตำรวจ และมีกรมตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาขื่อแปของบ้านเมืองอยู่.
การเริ่มต้นและการดำเนินของคดีฝิ่นรายนี้ออกจะเปนเรื่องชนิดความลับดำมืดและเต็มไปด้วยแง่เงื่อนอันสับสนเหลือประมาณ ทั้งที่รูปเรื่องก็ดูเปนเรื่องธรรมดาสามัญของการจับกุม ซึ่งน่าจะได้ตัวคนร้ายเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้ตัวหรือไม่ได้ลงมือเพื่อที่จะให้ได้ตัวคนร้ายจนถึงบัดนี้ เราจะลองลำดับเรื่องให้ชาวบ้านชาวเมืองพร้อมทั้งพวกพระเดชพระคุณที่กินเงินเดือนของราษฎรและรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้พิจารณาดู ว่านอกจากมันกลายเปนความลับดำมืดไปได้อย่างไรแล้วเรื่องเช่นนี้ได้ก่อความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศเพียงใด
สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๒ ได้เปิดเผยข่าวว่าตำรวจกองตรวจเหนือประมาณ ๓๐ คน ได้ไปซุ่มดักจับเหล่าร้ายที่ลอบขนฝิ่นเถื่อนอยู่ที่สถานีท่าแค จังหวัดลพบุหรี จนถึงเที่ยงคืนวันที่ ๑๐ หวุดหวิดจะได้ปะทะพวกผู้มีอิทธิพลที่คุมฝิ่นรายนั้นมา ตำรวจกับผู้คุมฝิ่นได้เปิดการเจรจากัน (หมายถึงว่า ผู้รักษากฎหมายและผู้ละเมิดกฎหมายได้มีการเจรจากัน) ในที่สุดผู้ระเมิดกฎหมายยอมให้ตำรวจยึดฝิ่นไว้ได้และตำรวจได้คุมฝิ่นที่ยึดได้มาโดยขบวนรถยนต์ถึง ๓ คันรถ (หนังสือพิมพ์ไม่ได้รายงานให้ชัดแจ้งว่าได้คุมตัวคนร้ายมาด้วยหรือไม่ ถ้าความจริงปรากฏว่าตำรวจไม่ได้จับกุมตัวผู้ลักลอบนำฝิ่นเถื่อนเข้ามาก็เปนความลับดำมืดข้อหนึ่ง)
รุ่งขึ้นวันที่ ๑๓ สยามนิกร รายงานว่า พ.ต.อ.ละม้าย อุทธยานนท์ ผู้บังคับการสันติบาลได้ตอบแก่นักข่าว สยามนิกร ว่า “ตามที่ชักจะลือกันว่าเปนของผมนั้น… เรื่องนี้รับรองด้วยเกียรติยศ ผมไม่รู้ไม่เห็นจริง ๆ… คุณลองไปถามผู้จับกุมเขาดูก็แล้วกัน เขาจะบอกคุณได้ว่าเปนของผมหรือไม่ ผู้จับกุมเองก็รู้”
อธิบดีตำรวจตอบนักข่าว สยามนิกร ว่า “ในการจับกุมครั้งนี้ไม่ได้ตัวผู้ต้องหาหรือเจ้าของฝิ่นเลย ผมเองก็ไม่รู้ว่าเปนของใคร”
รายงานข่าวตอน ๒ นี้ได้แสดงอยู่ว่า ตำรวจที่ไปจับกุมฝิ่นเถื่อนที่สถานีท่าแคหาได้จับกุมตัวผู้ลักลอบนำฝิ่นเถื่อนที่ได้ประจันหน้ากับตำรวจเข้ามาด้วยไม่ จึงกลายเปนความลับดำมืดที่ตำรวจได้ยอมปล่อยตัวผู้ละเมิดกฎหมายไป คำตอบของผู้บังคับการสันติบาลแสดงว่าผู้บังคับการทราบอยู่ ว่าตำรวจที่ไปจับกุมฝิ่นเถื่อนรายนี้รู้ตัวผู้กระทำผิดดี แต่ก็ไม่มีการจัดการอะไรกันลงไป และอธิบดีตำรวจก็ได้ตอบอย่างสบายใจว่า “ผมเองก็ไม่รู้ว่าเปนของใคร” และก็ดูไม่สนใจที่จะรู้ ทั้งยังแถมกล่าวไว้ด้วยว่า “ยอมรับว่าเรื่องนี้เปนเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิพล” แต่ก็ไม่ได้แสดงความสนใจว่าจะจัดการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ความลับดำมืดของคดีฝิ่นรายนี้จึงขยายตัวออกไปอีกคั่นหนึ่ง
นครสาร ฉบับวันที่ ๑๘ รายงานว่า ส.ส.ประวัติ จันทรพิมพ์ ผู้แทนขอนแก่นจะตั้งกะทู้ถามรัฐมนตรีมหาดไทยถึงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีการจับฝิ่นเถื่อน
สยามนิกร ฉบับวันที่ ๒๐ และ นครสาร ฉบับวันที่ [ความขาดหายไปเล็กน้อยในส่วนท้ายของบรรทัด] รายงานว่า พล.ต.ต.หลวงพิชิตธุระการตอบนักข่าว สยามนิกร ว่า “เรื่องนี้ทางกองบัญชาการไม่มีคำสั่งให้ทางสันติบาลสืบ เมื่อไม่สั่งทางสันติบาลก็ไม่มีหน้าที่จะเกี่ยวข้อง” พ.ต.ต.ละม้าย ตอบว่า “ผมเปนผู้บังคับการสันติบาลจริง แต่ไม่มีสิทธิจะทำอะไรได้ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่สั่งมาให้ทำ จนกระทั่งบัดนี้ผมก็ยังไม่เห็นหน้าผู้ต้องหา แต่ทางกองปราบวังปารุสกำลังเรื่องคืบหน้าอยู่
นครสาร รายงานว่า ผู้บังคับการสันติบาลยืนยันว่าจะพยายามสืบสวนหาตัวเจ้าของฝิ่นรายนี้มาให้จงได้ จะสืบจากใบอินวอยส์การส่งสินค้า และนับเบอร์รถตู้สินค้าจากกรมรถไฟเพื่อติดตามตัวเจ้าของแท้จริง และรายงานต่อไปว่า รองอธิบดีตำรวจได้เดินทางไปจังหวัดลพบุรีเพื่อสืบสวนเรื่องนี้
และ สยามนิกร ฉบับวันอังคารที่ ๒๒ ได้รายงานข่าวล่าสุดว่า รองผู้บัญชาการทหารบกได้ตอบนักข่าว สยามนิกร ว่า รู้เหมือนกันว่าเปนของใครแต่พูดไม่ได้ เพราะ “เขา” สั่งไม่ให้พูด “เขา” เป็นใครรองผู้บัญชาการไม่ได้อธิบาย
ตามที่ผู้เขียนได้ลำดับเรื่องจับฝิ่นเถื่อนจากสถานีท่าแค่ไว้ทั้งตันนี้พวกพระเดชพระคุณที่ได้รับแต่งตั้งให้ปกครองบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้จะไม่รู้สึกกลัวบาปกลัวกรรมกันบ้างหรือ ว่าได้ปล่อยให้บ้านเมืองผันแปรไปอย่างไร การที่หนังสือพิมพ์และประชาชนได้พากันสนใจในเรื่องจับฝิ่นเถื่อนรายนี้ ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองจะมองดูแต่ว่า มันเปนเรื่องฝิ่นเถื่อนเท่านั้น และหนังสือพิมพ์เอาเรื่องมดมาทำเปนเรื่องช้างไปได้เช่นนี้ [ความขาดหายไปเล็กน้อยในส่วนท้าทายของบรรทัด] จะเปนการดูหมิ่นความคิดของประชาชนอย่างล่อแหลมนัก เราเข้าใจว่าประชาชนมองดูเรื่องการค้าฝิ่นเถื่อนรายใหญ่ ๆ อันเปนเรื่องคลื่นกระทบฝั่งไปเสมอ ในฐานที่มั่นแสดงออกซึ่งภาวะเหล่านี้
๑. ผู้มีอิทธิพลหรือมีอำนาจในการบ้านเมือง ได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปนตัวการในการทุจริตอย่างไม่มีความอับอาย
๒. ความโลภและความไม่เกรงกลัวต่อบาปได้ทวีขึ้นในจริตของผู้มีอิทธิพลหรือมีอำนาจในการบ้านการเมืองอย่างน่าขนลุกขนพอง
๓. อาการลึกลับสับสนต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายต่อการดำเนินปฏิบัติอาตัวผู้ละเมิดกฎหมายมาขึ้นศาลเช่นที่จะพึงกระทำต่อเรื่องอื่น ๆ นั้น ทำให้ประชาชนต้องแลดูบ้านเมืองของเขาพร้อมด้วยคำถามที่มีอยู่ในใจ ว่าบ้านเมืองไทยนี้ยังมีขื่อแปอยู่หรือ? กฎหมายของบ้านเมืองยังคงบังคับใช้แก่คนทุกหมู่เหล่าอยู่หรือ?
๔. ความทุจริตคิดมิชอบที่ยอมรับกันว่า มาจากวงของผู้มีอิทธิพลอีกทั้งมีอาการต่าง ๆ ส่อให้เห็นว่า ไม่ปรากฎความรับผิดชอบจากที่ใดที่จะจัดการกับความทุจริตเหลวแหลกเช่นนี้ให้จริงจังลงไปนั้น ก็เท่ากับเปนการยุยงส่งเสริมความทุจริตที่อยู่ดาษดื่นในปัจจุบันให้ลุกลามขยายตัวออกไปอีก เมื่อปนเช่นนั้นการที่จะชักนำพระสงฆ์องค์เจ้าออกไปเที่ยวสั่งสอนอบรมศีลธรรมประชาชน ก็จะไม่เปนประโยชน์อะไรเลย ในมือมีตัวอย่างเลวทรามจากวงผู้มีอิทธิพลให้เห็นตำตาอยู่เช่นนี้
ภาวะต่ำช้าอนาถทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้ปกครองบ้านเมืองน่าจะเห็นว่า ล้วนแต่มีกำลังผลักดันบ้านเมืองไปสู่ความล่มจมขึ้นทั้งนั้นความโลภและความทุจริตนานาประการ ย่อมชักนำไปสู่ความล้มละลายทางศีลธรรมในที่สุด
ในขณะที่รัฐสภายังอยู่ในสมัยประชุมนี้ เราจึงหวังว่าฝ่ายค้านจะถือเปนกรณียกิจสำคัญที่ซักฟอกรัฐบาลอย่างจริงจัง ถืงเรื่องอันน่าอัปยศอดสูเกี่ยวกับคดีฝิ่นเถื่อน ๑๐ ล้านบาทนี้ และหาทางป้องกันมิให้ความโลภและความทุจริตในวงผู้มีอิทธิพลค้ำคอความสุจริตให้ลงไปนอนราบอยู่ใต้ฝ่าเท้าตลอดกาล
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ไปสู่ความล้มละลายในศีลธรรม”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 327-331.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ไปสู่ความล้มละลายในศีลธรรม”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 327-331.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร
- ตอนที่ 29 - ความเปื่อยผุในวงการปกครอง
- ตอนที่ 30 - ความทุจริตในการเลือกตั้ง