ข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองปรากฏทยอยออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่เปนที่น่ารื่นรมย์ใจเลย เริ่มตั้งแต่แถลงการณ์ของกรมตํารวจเรื่อง ฝิ่นเถื่อนที่ได้แถลงว่า “เมื่อครั้งกองตรวจขึ้นไปจับกุมที่สถานีท่าแคนั้น ตามจริงปรากฏว่าเป็นกลอุบายของพวกพ่อค้าฝิ่นซึ่งได้ทําดินปลอมเปนฝิ่นมาให้ตํารวจจับ”
ตํารวจกองตรวจได้ขึ้นไปจับฝิ่นเถื่อนรายใหญ่จํานวน ๔ ตันที่ สถานีท่าแคเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เปนเรื่องวิพากษ์กันอย่างเซ็งแช่ในหน้าหนังสือพิมพ์และในที่ทั่วๆ ไป จนกระทั่งวันที่ ๗ ธันวาคม กรมตํารวจจึงได้แถลงว่า อ้ายที่จับได้มาจนถึง “หวุดหวิดจะได้ปะทะกับพวกผู้มีอิทธิพล” ที่คุมมานั้นน่ะหาใช่ฝิ่นไม่ดอก มันเปนเรื่องก้อนดินเราดี ๆ นี่เอง
เมื่อกรมตํารวจต้องใช้เวลาตรึกตรองถึงเกือบ ๑ เดือน เพียงเพื่อจะตีแผ่ให้ประชาชนทราบว่า ฝิ่นกับดินนั้นไม่เหมือนกัน เราก็เห็นว่าควรปิดฉากการวิจารณ์เรื่องฝิ่นได้แล้ว นอกจากนั้น ในการตอบสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ตามรายงานของ นครสาร ฉบับวันที่ ๑๖ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความพอใจว่าการที่มีผู้ค้าฝิ่นเถื่อนนี้ก็เปนผลดีแก่บ้านเมืองอยู่เหมือนกัน เพราะกรมสรรพสามิตต์ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชื้อฝิ่นไปตลอดปี
มันอาจเปนสิ่งที่น่าพอใจตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวได้เหมือนกัน ถ้าประเทศไทยจะคิดถึงและเปนสุขสําราญอยู่กับเรื่องบาทเรื่องสตางค์ กันอย่างเดียว ปัญหาคงจะมีอยู่นิดเดียวว่า วัฒนธรรมเรื่อง “ชาติ เกียรติ วินัย กล้าหาญ” ที่พูดกันเซ็งแซ่อยู่เมื่อสองสามวันนี้จะเอากัน ต่อไปหรือไม่เอา หรือจะเอากันแต่เรื่องบาทสตางค์เท่านั้น
เพื่อหลีกจากข่าวร้ายๆ ในทางการเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ผู้เขียนได้พลิกดูเรื่องหน้าในของ พิมพ์ไทย ได้อ่านเรื่องโรงเรียนประชาสงเคราะห์ และสถานสงเคราะห์คนชราที่ปากเกร็ด ได้พบว่า ลักษณะ “ความสงเคราะห์” ที่ทางราชการไทยให้แก่เด็กไทยอนาถารายหนึ่ง ตามรายงานที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเปนที่น่าประหลาดอยู่
ตามเรื่องย่อ ๆ ที่ว่า เด็กชายเบิ้มพร้อมด้วยเพื่อนเด็กอีกคนหนึ่ง อยู่บ้านถนนพรานนกธนบุรีได้พากันไปเที่ยวงานภูเขาทอง ตํารวจผู้หนึ่งได้พบเข้า “ก็คว้าคอเสื้อเอาไว้” นําไปไว้ที่โรงพักกลางรวมกับเด็ก อื่น ๆ อีก ๑๐ คนเศษ แล้วทางตํารวจได้จัดส่งไปโรงเรียนประชาสงเคราะห์ที่ปากเกร็ด
ฝ่ายบิดามารดาของเด็กชายเบิ้มคอยบุตรอยู่ทางบ้านไม่เห็นกลับมา บิดาก็ออกตระเวนเสาะหา ได้ไปสอบถามที่สถานีตํารวจนางเลิ้ง เผื่อบุตรจะหลงทาง และทางสถานีตํารวจได้ดูแลไว้ แต่ก็ไม่ได้ความบิดาเด็กชายเบิ้มจึงแจ้งความเรื่องบุตรหายไว้ที่สถานีตํารวจ ด้วยหวังว่าเจ้าหน้าที่จะให้ความช่วยเหลือสืบหาตัว
ทั้งบิดามารดามีความทุกข์กังวลถึงบุตรชายที่หายไป และได้พยายามสืบเสาะหาตัวเรื่อยมา แต่ก็ไม่ได้วี่แววจนกระทั่งเวลาล่วงไปหนึ่งเดือน และบิดามารดาก็แทบทอดอาลัยแล้ว จึงได้มีสุภาพสตรีผู้หนึ่งไปที่บ้านพรานนกและแจ้งให้บิดามารดาของเด็กชายเบิ้มทราบว่าทางตำรวจได้จับตัวเด็กชายเบิ้มส่งไปเก็บไว้ที่โรงเรียนประชาสงเคราะห์
เหตุที่จะทราบเรื่องเด็กชายเบิ้มถูกพรากจากบ้านและพ่อแม่ของเขาไปนั้น เนื่องมาแต่สมาชิกของสมาคมสตรีอุดมศึกษาได้ไปเยี่ยมโรงเรียนประชาสงเคราะห์ และสุภาพสตรีคณะนั้นได้สนทนาไต่ถาม การเปนอยู่ของเด็กเหล่านั้นด้วยเมตตาจิตต์ จึงได้ทราบเรื่องที่เด็กชายเพิ่มถูกพรากจากบิดามารดา สุภาพสตรีในคณะนั้นผู้เปี่ยมด้วย มนุษยธรรม จึงได้สละเวลานําความไปแจ้งให้บิดามารดาของเด็กทราบ
เรื่องเช่นที่หนังสือ พิมพ์ไทย นํามาเล่าไว้นั้นเปนทั้งเรื่องน่าเศร้า และน่าสยดสยองใจ ใครหนอที่เรียกการกระทําพรากลูกจากพ่อแม่ของเขาว่าเปนการสงเคราะห์เด็กไทยอนาถา การออกกว้านจับเด็กส่งไปยังโรงเรียนประชาสงเคราะห์เช่นนั้น ได้ทํากันอย่างไร และได้สอบถามปากคําเด็กอย่างไร เจ้าหน้าที่จึงไม่รู้ว่าเด็กนั้นมีพ่อแม่ที่คอย หาอยู่ทางบ้าน สถานีตํารวจที่ได้รับแจ้งความเด็กหายไว้เปนเวลาถึง ๑ เดือนนั้นได้ดําเนินการสืบหาอย่างไรบ้าง จึงมิได้วี่แววว่าทาง ตํารวจโรงพักกลางได้รวบตัวเด็กชายเบิ้มส่งไปไว้ที่โรงเรียนประชาสงเคราะห์เสียแล้ว และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนประชาสงเคราะห์ซึ่งมีหน้าที่อภิบาลให้การศึกษาแก่เด็กเหล่านั้น เมื่อรับตัวเด็กไว้แล้วก็ มิได้สอบถามการเปนไปหรือสนทนากับเด็ก ๆ ในอภิบาลของตนบ้างเลยเที่ยวหรือ
นับไม่น่าพิศวงหรือ ที่ท่านสุภาพสตรีผู้ไม่มีหน้าที่จะต้องให้ “ความสงเคราะห์” แก่เด็กอนาถาเหล่านั้นเลย และก็เพียงแต่การไปเยี่ยมเด็กเหล่านั้นครั้งเดียว และก็ด้วยอํานาจแห่งปราณีธรรมและมนุษยธรรม จากน้ําใสใจจริงเท่านั้น สุภาพสตรีเหล่านั้นก็ได้ทราบการเปนไปของเด็กอนาถาและได้ทราบเรื่องราวของเด็กชายเบิ้มที่ถูกพรากมาจากบิดามารดาและร่ําร้องครวญหาบิดามารดาของเขา
ในชั่วขณะเล็กน้อยที่ท่านสุภาพสตรีคณะนั้นได้เยี่ยมเด็กอนาถาและก็ได้ทราบเรื่องราวของเด็กชายเบิ้มนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ประชาสงเคราะห์ ซึ่งมีหน้าที่เปนผู้ให้ “ความสงเคราะห์” แก่เด็กเหล่านั้นหาทราบเรื่องราวของเขาไม่ เจ้าหน้าที่ของสถานสงเคราะห์ที่ปากเกร็ดตอบนักเขียนของ พิมพ์ไทย ว่า เขามีหน้าที่แต่เพียงจะรับเด็กที่ทางตํารวจจัดส่งมาเท่านั้น เขาไม่มีหน้าที่สอบสวนการเปนไปของเด็ก การสอบสวนและการส่งตัวเด็กเปนเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายตํารวจ ทางสถานสงเคราะห์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
เมื่อว่ากันตามตัวบทกฎหมายอย่างเดียว มันก็คงจะถูกตามเจ้าหน้าที่ท่านว่า แต่ความถูกต้องอันอยู่เหนือความถูกต้องอันใดนั้นคงจะเปนว่า ปราณีธรรมและมนุษยธรรมนั้นย่อมแสดงออกได้ทุกเวลา และทุกหนทุกแห่ง หากผู้ใดมีจิตต์ใจจะแสดงและต้องการจะแสดงไม่เลือกว่ากฎหมายจะกําหนดไว้ให้เป็นหน้าที่หรือไม่กําหนดไว้ก็ดี
จิตต์ใจที่ท่านสุภาพสตรีแห่งสมาคมสตรีอุดมศึกษาได้แสดงออกนั้นเปนจิตต์ใจที่พึงปรารถนาสําหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ “สงเคราะห์” ทุกแผนก ปราศจากจิตต์ใจเช่นนั้น
“ความสงเคราะห์” ที่ทางราชการได้ตีตราไว้ในเรื่องต่าง ๆ ก็เปนสิ่งที่ไร้ความหมาย
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “อันความกรุณาปราณี…”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 349.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “อันความกรุณาปราณี…”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 348-354.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร
- ตอนที่ 29 - ความเปื่อยผุในวงการปกครอง
- ตอนที่ 30 - ความทุจริตในการเลือกตั้ง
- ตอนที่ 31 - ไปสู่ความล้มละลายในศีลธรรม
- ตอนที่ 32 - ประกันสังคมของรัฐบาลไทย
- ตอนที่ 33 - ฐานะของรัฐบาล “สถานการณ์”
- ตอนที่ 34 - อันความกรุณาปราณี…