ในสมัยเดือนธันวาคม 2492 หนังสือพิมพ์ สยามนิกรรายงานว่า การที่รัฐบาลไม่ควบคุมค่าเช่ารถ 3 ล้อนั้น รัฐมนตรีว่าการมหาดไทยได้ให้เหตุผลในการตอบกระทู้ถามของผู้แทนราษฎรว่า การควบคุมค่าเช่าจะเปนการกระเทือนกรรมสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ถ้ารัฐมนตรีมหาดไทยได้กล่าวเช่นนั้นจริงก็เปนเรื่องพิศวง เพราะการควบคุมค่าเช่าและราคาสินค้าในกรณีต่าง ๆ ก็ได้กระทำกันอยู่แล้ว เปนแต่ว่าการควบคุมเหล่านั้นโดยมากไม่เปนผลและไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในความไม่เปนผลและไม่มีประสิทธิภาพก็คือรัฐบาล
ถ้าค่าเช่าที่เจ้าของรถ 3 ล้อเรียกเอาแก่ผู้เช่ามีอัตราสูงเกินไปจนเปนเหตุก่อความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน และรัฐบาลจะควบคุมก็ไม่ได้เพราะจะกระทบกระเทือนกรรมสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติให้ความคุ้มครองไว้ก็จะต้องแปลงว่ารัฐธรรมนูญนั้นบกพร่อง เรื่องกรรมสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลนี้ ดูเปนที่ห่วงกันมากในวงการรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งที่ไม่ปรากฏอาการของปัณหาเรื่องนี้จากทางหนึ่งทางใด เมื่อไม่นานมานี้ หัวหน้ารัฐบาลก็ได้แสดงความวิตกกังวลออกมาจนถึงกับดำริจะตราพระราชกำหนดห้ามการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการละเมิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ดูประหนึ่งจะให้เข้าใจกันว่า มีคนอยู่จำพวกหนึ่งคอยจ้องจะออกความเห็นให้ละเมิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวบุคคล ไม่เลือกว่าผ้านุ่งผ้าห่มของใครอยู่ตลอดเวลา
การพูดถึงการละเมิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวอย่างหลวม ๆ ชวนให้เข้าใจไปว่า จะมีลัทธิการเมืองบางลัทธิกระมัง ซึ่งมีความมุ่งหมายหรือนโยบายที่จะมิให้ราษฎรมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนตัวใด ๆ เปนต้นว่าราษฎรจะมีบ้านของตนเองก็ไม่ได้ จะมีเครื่องวิทยุ โต๊ะ เก้าอี้ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวใด ๆ ก็ไม่ได้
แท้ที่จริงเราไม่เคยได้ยินว่ามีข้อนโยบายของพรรคการเมืองหรือลัทธิการเมืองใดที่จะให้เพิกถอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคลอย่างไม่มีขีดขั้นจำกัด ในลัทธิโซชลิสม์ก็ไม่มี ในลัทธิคอมมิวนิสม์ก็ไม่มี และก็ไม่เคยได้ยินว่ามีอยู่ในลัทธิการเมืองใด
การเข้าครอบครองหรือโอนเปนของรัฐซึ่งทรัพย์สินของเอกชนนั้นก็มีแต่ในกรณีที่ดินรายใหญ่ ๆ และทรัพย์สินในส่วนที่เปนอุปกรณ์การผลิตหรือการขนส่ง เช่นโรงงาน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า รถไฟ เครื่อง จักร ฯลฯ ทรัพย์สินดังกล่าวนี้ อยู่ในความครอบครองของพวกนายทุนใหญ่ ๆ ไม่กี่คน ซึ่งเจ้าของได้ใช้เพื่อแสวงผลกำไรอันมหึมาให้แก่ตนเอง รัฐเข้าครอบครองทรัพย์สินเหล่านี้ ก็เพื่อจักนำผลได้มาใช้ให้เปนประโยชน์แก่มวลชน ตัวอย่างสด ๆ ในประเทศของเราเอง ก็ได้แก่การที่รัฐบาลเข้าครอบครองบริษัทไฟฟ้าไทย ซึ่งเป็นการเข้าครอบครองตามสัญญา มิใช่โดยการบังคับ เพื่อจัดการให้ผลได้ของกิจการนั้นตกแก่ประเทศหรือประชาชน (ถ้ารัฐบาลมีประสิทธิภาพ) การเข้าครอบครองหรือการโอนเปนของรัฐ บางลัทธิก็จัดให้มีค่าทดแทน บางลัทธิก็รับโดยไม่มีค่าทดแทน เพราะเห็นว่า เจ้าของกิจการเหล่านั้นได้ถลุงสังคมมานมนานแล้ว
รัฐบาลเลเบ้อของอังกฤษ ได้โอนและมีกำหนดการที่จะโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐหลายอย่าง เปนต้น อุตสาหกรรมถ่านหิน การไฟฟ้า การไฟแก๊ส อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ฯลฯ และเมื่อปีกลายนี้รัฐบาลเลเบ้อของออสเตรเลียก็ได้พยายามที่จะโอนธนาคารพาณิชย์ของเอกชนทั้งหมดเปนของรัฐ ทั้งนี้เพื่อจะควบคุมเครดิทของธนาคารให้ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์แก่สังคมจริง ๆ มิใช่เพื่อการแสวงกำไรและความมั่งคั่งของคนไม่กี่คน การโอนดังกล่าวนั้นได้กำหนดให้มีค่าทดแทน
เมื่อพูดถึงการเพิกถอนหรือการโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลเกี่ยวเนื่องกับลัทธิการเมืองนั้น แท้จริงเปนเรื่องที่หมายความจำกัดเพียงทรัพย์สินที่เปนอุปกรณ์การผลิตหรือการขนส่ง ซึ่งเปนสมบัติของพวกนายทุนจำนวนน้อยที่มีไว้เพื่อการหากำไรส่วนตัวเท่านั้น มิให้หมายความถึงกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่บุคคลทั้ว ๆ ไปมีไว้ใช้สรอยเปนการส่วนตัวแต่อย่างใดเลย
กรรมสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลในกรณีทั่ว ๆ ไปนั้นได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว ทั้งในกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง เปนต้นว่า ถ้าใครมายกเก้าอี้ในบ้านของเราไป ตำรวจก็จะลากคอไปเข้าตรางหรือถ้าใครมาตัดต้นหมากต้นพลูของราษฎรตามกฎหมายอาญาก็จะต้องเข้าตรางเช่นเดียวกัน ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินที่เน้นย้ำไว้อีกในรัฐธรรมนูญของไทยนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองนั้นก็คงจะมีอยู่ไม่กี่คนที่เปนเจ้าของอุปกรณ์การผลิตและการขนส่งหรือเจ้าของที่ดินใหญ่ ๆ
“ดรรชนี” แห่งหนังสือพิมพ์รายเดือน อักษรสาสน์ ได้นำรายงานของโซชลิสม์อังกฤษที่มีชื่อเสียงมาเสนอว่า “6 เปอเซนต์ของพลเมืองอังกฤษทั้งหมด เปนเจ้าของทุนทั้งหมดของอังกฤษ 80 เปอเซนต์” โดยที่ “ทุน” เปนเครื่องมือของการผลิตและเพื่อที่จะจัดมิให้ “ทุน” ของอังกฤษได้ถูกใช้เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งและความสุขสำราญให้แก่คนอังกฤษเพียงไม่กี่คน รัฐบาลเลเบ้อของอังกฤษจึงมีแผนการโอนทุนหรือควบคุมทุน เพื่อให้ทุนนั้นได้ถูกใช้ในอาการเฉลี่ยความสุขแก่มวลชน
นอกจากรัฐจะใช้วิธีการบังคับโอนอุปกรณ์การผลิตแล้ว ทรัพย์สินของคนอังกฤษชั้นที่มีรายได้มาก ยังถูกดึงเข้ามาเปนของรัฐ โดยวิธีการอื่นอย่างอื่นอีก เปนต้นว่าโดยวิธีการเก็บภาษีรายได้ หนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับหนึ่งรายงานว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีพลเมืองอังกฤษ 7000 คนที่มีรายได้สูงกว่า 24,000 ดอลล่าต่อปี (ภายหลังที่เสียภาษีแล้ว) ปัจจุบันนี้มีพลเมืองอังกฤษเพียง 70 คนในจำนวนกว่า 40 ล้านที่มีรายได้สูงกว่า 24,000 ดอลล่าต่อปี รัฐบาลเลเบ้ออังกฤษมุ่งหมายนำรายได้ของชนชาติอังกฤษมาใช้ให้เปนคุณประโยชน์แก่คนทั่วหน้า
หลักการปฏิบัติของรัฐบาลอังกฤษ เช่นที่กล่าวนี้ ดูตรงกันข้ามกับหลักการที่ท่านรัฐมนตรีมหาดไทยตอบว่า หากควบคุมค่าเช่าแล้วก็จะเปนการกระทบกระเทือนกรรมสิทธิในทรัพย์สิน (ของคนจำนวนน้อย) รัฐบาลปัจจุบันช่างห่วงใยระไวระวังทางได้ของบุคคลที่ได้อยู่มากแล้วเสียจริง ๆ
ประเทศนี้จึงเหมาะเหลือเกินที่คนโชคดีมีบุญจะมาเกิด เพื่อจะกอบโกยเอาให้เต็มที่ เพราะรัฐคอยเทอดทูนบุญบารมีของเขาอยู่ตลอดกาล ข้อที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งก็คือ ในประเทศนี้ก็บังเอิญมีคนที่โชคไม่ดีมาเกิดด้วยราว 90 เปอเซนต์
เปนการประหลาดอยู่ที่พวก 90 เปอเซนต์นี้ ไม่มีตัวแทนของเขาเปนผู้ปกครองประเทศ ในขณะที่คนโชคดีเพียงหยิบมือหนึ่ง ได้มีตัวแทนอยู่ตลอดมา
ที่มา : หนังสือ พิมพ์ไทย รายวัน
เวลา : 22 ธันวาคม พ.ศ. 2492
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ประเทศของคนที่มีโชคดี”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 360.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ประเทศของคนที่มีโชคดี”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 360-365.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร
- ตอนที่ 29 - ความเปื่อยผุในวงการปกครอง
- ตอนที่ 30 - ความทุจริตในการเลือกตั้ง
- ตอนที่ 31 - ไปสู่ความล้มละลายในศีลธรรม
- ตอนที่ 32 - ประกันสังคมของรัฐบาลไทย
- ตอนที่ 33 - ฐานะของรัฐบาล “สถานการณ์”
- ตอนที่ 34 - อันความกรุณาปราณี…
- ตอนที่ 35 - ประเทศของคนที่มีโชคดี