การประชุมใหญ่ทางวิชาการของ ส.น.ท.[1] ได้กลายเปนเรื่องเกรียวกราวขึ้น เนื่องด้วยอธิบดีกรมโฆษณาการ เรียกร้องจะตรวจร่างปาฐกถาของหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันตร์ จนกระทั่ง ส.น.ท. ต้องเลือกเอาข้างย้ายที่ประชุมไปประชุมที่คุรุสภา. และการประชุมดังกล่าวนั้นก็ได้ผ่านไปโดยเรียบร้อยแล้ว.
ผู้เขียนไม่มีความประสงค์จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดต่อไปอีกเพราะเหตุว่าบ้านเมืองยังมีปัญหาความยุ่งยากอีกหลายประการนักที่รอการอภิปรายหาทางแก้ไขให้คืนดี. อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้พิเคราะห์ดูเห็นว่า กรณีการประชุมใหญ่ทางวิชาการของ ส.น.ท.นั้น ได้มีผู้สนใจวิจารณ์กันอยู่ และการวิจารณ์นั้นได้ทิ้งความคลุมเครือไว้ในปัญหาบางข้อ ซึ่งเปนข้อสำคัญ ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถ้าได้อภิปรายปัญหาเรื่องนี้ในรูปแลกเปลี่ยนความเห็นกันอีกสักครั้งหนึ่ง ก็คงจะเปนประโยชน์แก่สาธารณชน และแม้แต่ท่านอธิบดีกรมโฆษณาการเอง ก็อาจพิจารณาข้ออภิปรายต่อไปนี้ด้วยความพึงพอใจ และปรับปรุงแนวคิดของท่านเสียใหม่ก็เปนได้.
ปัญหาในเรื่องนี้ได้อุบัติขึ้นจากความข้องใจว่า ปาฐกถาหรือคำบรรยายในที่ประชุมใหญ่ทางวิชาการของ ส.น.ท.นั้น เปนเรื่องการเมืองหรือไม่. เปนเรื่อง “ด่า” รัฐบาลหรือไม่ ตามท่าทีของอธิบดีกรมโฆษณาการ ที่แสดงออกนั้น หากข้อความในปาฐกถาพากพิงไปถึงเรื่อง “การเมือง” แล้วก็อาจได้รับความขัดข้อง และถ้ามีการ “ด่า” รัฐบาลก็เปนสิ่งที่เปนไปไม่ได้ทีเดียว. องค์ปาฐกได้ทรงรับรองว่า ปาฐกถาเรื่องนี้ไม่มีเรื่อง “การเมือง” และเมื่อได้ประทานปาฐกถาจบแล้ว ก็เปนที่เข้าใจกันว่า ปาฐกถาเรื่องนั้นไม่มีข้อความพาดพิงไปถึงเรื่อง “การเมือง”
อย่างไรก็ดี ส.น.ท. ย่อมจะจัดให้มีการประชุมทางวิชาการต่อไปเปนครั้งคราว และคำบรรยายในที่ประชุมนั้น ก็คงไม่มีสภาพเหมือนกันทีเดียวกับปาฐกถาที่ได้แสดงไปแล้ว ดังนั้นจึงสมควรจะพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า “วิชาการ” กับ “การเมือง” นั้น มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ และจะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดหรือไม่
ต่างว่าในปาฐกถาเรื่อง “การเงินระหว่างประเทศ” นั้น ถ้าหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันตร์ จะทรงบรรยายเหตุประกอบทัศนะของท่านในเรื่องการปรับอัตราเงินบาทกับเงินปอนด์ที่ทรงเห็นว่าจะควรยืนอัตราเดิม คือปอนด์ละ ๔๐ บาท ซึ่งต่างกับทัศนะของรัฐบาลนั้น ดังนี้จะเปนการพูดเรื่อง “การเมือง” หรือไม่ ดังนี้จะทำให้ปาฐกถานั้นเปลี่ยนสภาพจาก “วิชาการ” มาเป็นเรื่อง “การเมือง” หรือไม่ และถ้าองค์ปาฐกจะทรงบรรยายทัศนะของท่านด้วยอาศัยความรู้หลักฐานประกอบเหตุผลของท่านแล้ว จะไม่เปนเรื่องที่ควรสดับรับฟังหรือ?
เพราะฉะนั้น เมื่อได้มีการนำคำ “การเมือง” มาใช้ประกอบกับคำ “วิชาการ” แล้ว เราจะต้องพิจารณากันเสียก่อนว่า “การเมือง” นั้นมีความหมายอย่างไรหรือเราต้องการจะให้ความหมายของคำ “การเมือง” นั้น อย่างไร
คำว่า “การเมือง” นั้น ปทานุกรมก็มิได้ให้ความหมายไว้ แท้จริงนั้นคำว่า “การเมือง” ย่อมมีความหมายกว้างขวาง และการนำออกใช้นั้นก็โดยนัยต่างๆ กัน. ถ้าถือตามอธิบายของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ทรงอธิบายว่า “กิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับบ้านเมืองก็สงเคราะห์เข้าในการเมืองทั้งนั้น โดยนัยทั่วไปนี้ อังกฤษใช้คำว่า politic ดังนี้ปาฐกถาเรื่อง “การเงินระหว่างประเทศ” แม้เปนที่เข้าใจกันว่าเปนปาฐกถาทางวิชาการ ก็อาจสงเคราะห์เข้าเปนเรื่อง “การเมือง” ได้เหมือนกัน. เราจึงเห็นได้ว่าวิชาการบางประเภท กับ “การเมือง” นั้น เมื่อกล่าวโดยนัยทั่วไปแล้ว เปนสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก หรือแยกออกจากกันไม่ได้เลย
อย่างไรก็ดี เมื่ออธิบายกรมโฆษณาการเรียกตรวจต้นฉบับปาฐกถาและขอคำรับรองจากองค์ปาฐกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ปาฐกถานั้นจะไม่มีข้อความพาดพิงถึงเรื่อง “การเมือง” เลยนั้น คำว่า “การเมือง” ตามความหมายทั่วไป แต่เปน “การเมือง” ตามความหมายที่ถือกัน เข้าใจกันฉะเพาะในวงราชการไทย. “การเมือง” ในที่นั้นคงจะหมายถึงว่าเปนเรื่องบรรจุข้อความเปนการ “ด่า” รัฐบาล หรือข้อความใดๆ ที่อาจทำให้ใครๆ แลดูรัฐบาลในทางที่ไม่ยกย่องนับถือ. แต่ถ้าปาฐกถานั้นบรรจุข้อความที่แม้เปนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองล้วนๆ หากไม่กระทบกระเทือนฐานะของรัฐบาลเลย ก็จะไม่ถูกนับฐานะว่าเปนเรื่อง “การเมือง” แต่อย่างใด หากว่าปาฐกถานั้นบรรจุข้อความแต่ที่เปนการยกย่องสรรเสริญรัฐบาลแล้ว ก็คงจะไม่ถูกแปลว่าเปนเรื่อง “การเมือง” อย่างเด็ดขาด!
เราจึงใคร่จะชี้ให้เห็นว่า คำว่า “การเมือง” นั้น เมื่อคนสองคนพูดก็คงมีความหมายไปสองอย่าง และเมื่อสามคนพูด ก็อาจมีความหมายไปได้สามอย่าง. ดังนั้น ผู้ฟังก็จะต้องพิเคราะห์ความหมายดูให้ดี. นอกจากคำว่า “การเมือง” แล้ว แม้คำที่ใช้เกี่ยวข้องด้วยเรื่องการเมืองก็มักใช้หรือเข้าใจโดยนัยต่าง ๆ กัน. เปนต้นคำว่า “ด่า” ในทางการเมืองนั้น ก็มีความเข้าใจต่างๆ กัน. สมมุติว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีความเห็นต่างกับคุณหลวงกาจสงคราม ในปัณหาการเมืองบางเรื่องและแสดงความเห็นนั้นออกมาโดยปรกติวิสัย ประกอบด้วยเหตุผลและหลักฐานตามนั้น วงการบางแห่งอาจโจษจรรย์กันว่า ม.ร.ว.เสนีย์มีความเห็นต่างกับคุณหลวงกาจในเรื่องที่ได้แสดงออกมา. สิ่งที่เรียกว่า “ความเห็นต่างกัน” มักจะมีผู้นำไปใช้ปนกับคำว่า “ด่า” โดยเหตุนั้นใครๆ ที่เพียงแต่แสดงความรู้ความเห็นต่างกับรัฐบาล จึงมักถูกกล่าวถึงว่าเปนผู้ที่ “ด่า” รัฐบาล ซึ่งมีความหมายไกลจากความเปนจริงมาก. แท้ที่จริงคำว่า “วิจารณ์” และ “วิพากษ์” ก็มีน้ำหนักแห่งความหมายต่างกัน. ในบางครั้งเราก็วิพากษ์รัฐบาล และในบางครั้งเราก็เพียงแต่ “วิจารณ์” เท่านั้น
ในการประชุมใหญ่ทางวิชาการของ ส.น.ท.ครั้งต่อ ๆ ไปนั้นนอกจากปาฐกถาแล้ว ผู้เขียนเข้าใจว่า คณะกรรมการอาจจัดให้มีการอภิปรายปัณหาต่าง ๆ ด้วย. อนึ่งเรื่องที่จะนำมาบรรยายในที่ประชุมทางวิชาการนั้น ก็ไม่จำเปนว่าจะต้องเปนข้อวิชาล้วนๆ อาจเปนการนำวิชาการมาปรับใช้กับเหตุการณ์ และตั้งข้อสังเกตวิจารณ์โดยอาศัยหลักวิชาความรู้ก็ได้ และก็เปนที่ปรารถนาอย่างยิ่ง. การอภิปรายปัณหานั้น ก็อาจอภิปรายปัณหาการเมืองทั้งภายในและต่างประเทศก็ได้. สิ่งที่จะดำรงคุณค่าทางวิชาการของการปาฐกถานั้นก็คือ ไม่ว่าจะเปนการบรรยายทางข้อวิชาล้วน หรือเปนการอภิปรายปัณหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก็ดี การบรรยายและคำอภิปรายนั้นๆ จะต้องประกอบด้วยหลักวิชาการของ ส.น.ท.นั้น หากจะมีก็จะต้องเปนเรื่อง “การเมือง” ที่จะนำไปสู่ความเพิ่มพูนคุณภาพทางปัญญาและจะมิใช่ “การเมือง” แบบหั่นแหลก แบบจั้บโป้ย แบบออเซาะ หรือแบบมีซื่อแปลก ๆ อีกมากแบบตามที่รู้จักเข้าใจกันในวงการบางแห่งนั้นแน่นอน
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 3 มกราคม พ.ศ. 2493
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, เรื่อง “การเมือง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 366.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “การเมือง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 366-373.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ
- ตอนที่ 10 - การลาออกของนายปรีดี
- ตอนที่ 11 - บรรยากาศในสภาวันจันทร์
- ตอนที่ 12 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 13 - ดิเรกลาออก
- ตอนที่ 14 - การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
- ตอนที่ 15 - กลไกประชาธิปไตย
- ตอนที่ 16 - เล่นการเมือง
- ตอนที่ 17 - การเมืองเต็มไปด้วยภาพมายา
- ตอนที่ 18 - “นั่งลงนิ่ง ๆ และคิด”
- ตอนที่ 19 - การประกอบรัฐบาลของประชาชน
- ตอนที่ 20 - ชีวิตไม่มีแต่การเมือง
- ตอนที่ 21 - คำสาบาลซ้ำ
- ตอนที่ 22 - ลักษณะคำแถลงนโยบาย
- ตอนที่ 23 - การแถลงคำอธิษฐานในสภา
- ตอนที่ 24 - ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
- ตอนที่ 25 - แลไปข้างหน้า
- ตอนที่ 26 - การเผยแพร่ประชาธิปไตย
- ตอนที่ 27 - เสถียรภาพทางการเมือง
- ตอนที่ 28 - ความปลอดภัยแห่งชีวิตราษฎร
- ตอนที่ 29 - ความเปื่อยผุในวงการปกครอง
- ตอนที่ 30 - ความทุจริตในการเลือกตั้ง
- ตอนที่ 31 - ไปสู่ความล้มละลายในศีลธรรม
- ตอนที่ 32 - ประกันสังคมของรัฐบาลไทย
- ตอนที่ 33 - ฐานะของรัฐบาล “สถานการณ์”
- ตอนที่ 34 - อันความกรุณาปราณี…
- ตอนที่ 35 - ประเทศของคนที่มีโชคดี
[1] ส.น.ท. = สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมแห่งนี้และดำรงงเป็นเลขานุการคนแรก จนต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนที่ 3 ดำรงตำแหน่งอยู่ 2 วาระ ในปี พ.ศ.2488 และในปี พ.ศ.2489 -บก.