ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: เงื่อนไข... แห่งความสนับสนุนของประชาชน (ตอนที่ 43)

6
เมษายน
2568

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

 

รายงานการประชุมของคณะรัฐมนตรี ในวันที่กองทหารญี่ปุ่นบุกประเทศไทยตามที่ได้นำเสนอในหนังสือพิมพ์ การเมือง นั้น ได้บรรจุข้อความที่ให้คติทางการเมืองอยู่ไม่น้อย สมควรที่นักการเมืองของเราจะศึกษา และแสวงประโยชน์จากบันทึก

บันทึกการประชุมนั้นแสดงว่า ในยามที่ความเปนความตาย ได้มาเคาะอยู่ที่ประตูบ้านของประชาชาติไทยนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีก็ระลึกขึ้นได้ถึงเสียงของประชาชน ระลึกขึ้นได้ถึงมติของประชาชน คณะรัฐมนตรีมีเวลาอยู่ไม่กี่นาทีที่จะต้องตัดสินปัญหาความเปนความตายของชาติ จะรบกับญี่ปุ่นหรือจะยอมตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่น ในเวลาคับขันเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีก็ได้ร้องถามเพื่อนรัฐมนตรีขึ้นมาถึงสองครั้งสองหนว่า “เสียงประชาชนว่าอย่างไรก็ไม่รู้” และอีกตอนหนึ่งว่า “ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะตกลงอย่างไรเหมือนกัน คือ ไม่รู้ว่าเสียงประชาชนส่วนมากเปนอย่างไร” คณะรัฐมนตรีต้องการความสนับสนุนของประชาชนในการที่จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง แต่ก็ไม่มีรัฐมนตรีผู้ใดสามารถให้คำตอบอันเปนที่พอใจได้ เมื่อเปนเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีจึงต้องตัดสินปัญหาใหญ่หลวงลงไปในนามของประชาชนไทย ทั้งที่ไม่ทราบว่าประชาชนไทยมีความเห็นว่ากระไร

นั่นเปนเรื่องของอดีต ในที่นี้เราไม่ประสงค์จะชี้ข้อผิดข้อถูกในอดีต เราเปนแต่เก็บเอาเรื่องราวในอดีตมารำพึง เพื่อว่าคติบางอย่างของอดีต จะเปนประโยชน์แก่การพิจารณาการเมืองในปัจจุบันและอนาคตบ้าง เราต้องการจะแลไปในอนาคต

การที่นายกรัฐมนตรีระลึกขึ้นได้ถึงเสียงของประชาชน และความสนับสนุนของประชาชนนั้น ถึงแม้จะเปนความพยายามระลึกถึงในชั่วนาทีสุดท้าย ใครๆ ก็จะต้องยอมรับว่า ยังเปนการดีกว่าที่จะไม่ได้นึกถึงเสียเลย คือประชาชนจะคิดอย่างไรก็ช่างหัวมัน ข้อที่น่าเสียดายก็คือ นายกรัฐมนตรีได้มีเวลาล่วงหน้านานพอทีเดียวที่จะศึกษาประชามติ แต่ก็ได้ปล่อยให้เวลาอันมีค่านั้นผ่านไปเสีย โดยที่มิได้ศึกษาไว้ แต่นั่นก็เปนเรื่องของอดีต

นายกรัฐมตรีคนเดียวกันนั้นได้กลับมาเปนนายกรัฐมนตรีปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานะการณ์ของโลกและของประเทศเพื่อนบ้านจะอบอวลไปด้วยกลิ่นดินปืนก็ดีแต่ปัญหาแห่งความเปนความตายของชาติ ในขนาดเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญมาเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ คงจะไม่ระเบิดออกอย่างปุบปับฉับพลัน และนายกรัฐมนตรีก็คงมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษาความคิดเห็นของประชาชนว่ามีอยู่อย่างไรในกรณีการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวคือประชาชนไทยประสงค์จะให้ประเทศไทยเข้าเปนฝ่ายในสงคราม ไม่ว่าจะเปน “สงครามเย็น” หรือ “สงครามยิง” หรือว่าประสงค์จะให้ประเทศไทย ซึ่งมีชนไทยทั้งชาติผูกพันอยู่ตั้งตนเปนกลางและผูกมิตรกับมหาประเทศทุกฝ่าย

นายกรัฐมนตรีได้มีเวลามาแล้วอย่างเพียงพอ และคงจะยังมีเวลาอีกไม่น้อยที่จะศึกษาความคิดเห็นของประชาชนว่ามีอยู่อย่างไรในกรณีการดำเนินวิเทโศบายของประเทศ ได้มีผู้ออกความเห็นอันอาจถือได้ว่าเปนเสียงส่วนหนึ่ง หรือเปนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเปนครั้งคราวตลอดมาในกรณีการเมืองระหว่างประเทศ ถ้านายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลประสงค์จะศึกษาความคิดเห็นของประชาชน นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลก็ได้มีและยังคงมีโอกาสอยู่พร้อมมูล ที่จะศึกษา และประชาชนก็ปรารถนาที่จะให้รัฐบาลได้ศึกษาความคิดเห็นของเขา เท่ากับที่เขาปรารถนาจะศึกษาความคิดของรัฐบาลเหมือนกัน โอกาสที่จะศึกษาความเห็นของประชาชนนั้นเปนของรัฐบาลอยู่แล้ว และก็ไม่มีใครเลยจะไปตัดโอกาสเช่นนั้นของรัฐบาลเสีย เว้นแต่รัฐบาลจะตัดโอกาสของตนเสียเอง ด้วยการแสดงอาการคุกคามต่อการแสดงความเห็นของประชาชนที่ไม่ตรงกับรัฐบาล หรือด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึกก่อนกาลอันจําเปน ถ้ารัฐบาลประสงค์จะฟังเสียงประชาชนจริงๆ แล้ว รัฐบาลย่อมพยายามหลีกเลี่ยงไม่กระทําการใดๆ ในทางที่จะเปนการปิดโอกาสของรัฐบาลเสียเอง

เราใคร่จะยกตัวอย่างกรณีการเมืองระหว่างประเทศบางเรื่อง เช่น กรณีการรับรองรัฐบาลเบาได๋ เปนต้น รัฐบาลก็ได้มีโอกาสฟังเสียงของประชาชนอย่างเพียงพอทีเดียว และในที่สุดรัฐบาลก็ได้เลือกปฏิบัติไปตามความเห็นของรัฐบาล นั่นก็กลายเปนเรื่องของอดีตไปแล้ว แม้ว่าจะยังคงเปนเรื่องสดๆ อยู่ก็ตาม อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันก็ยังจะคงมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศปรากฏออกมาให้ขบอยู่ไม่ขาด หากรัฐบาลประสงค์จะศึกษาความเห็นของประชาชน ก็ย่อมมีโอกาสอยู่ทุกเมื่อตราบเท่าที่รัฐบาลไม่กระทําการใดๆ อันจะเปนเหตุให้ประชาชนเกิดหวาดกลัวภัยที่จะแสดงความคิดเห็น หรือถึงแก่ตัดโอกาสเสียทีเดียวด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึก เปนต้น

อย่างไรก็ดี เรารู้สึกว่าการสนับสนุนให้ประชาชนศึกษาหาความรู้ในกิจการต่างประเทศโดยรอบด้าน และตามความเปนจริงนั้น ออกจะขาดแคลนเต็มที ข่าวสารต่างประเทศที่จะพึงได้อ่านได้ฟังในประเทศนี้ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดที่เปนข่าวสารจำพวกโปรประกันดา ซึ่งยิ่งฟังก็มักจะชวนให้ยิ่งหลง ส่วนความเห็นที่ออกไปจากประชาชนเล่า ถ้าเปนความเห็นที่ไปขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาล ผู้ที่เปนปากเสียงของรัฐบาลก็มักจะลงความสันนิษฐานเอาว่า ผู้ที่มีความเห็นแย้งหรือคัดค้านรัฐบาล มีประสงค์ร้ายต่อรัฐบาลหรือต่อบ้านเมือง เมื่อเปนเช่นนี้ การแสดงความเห็นทางด้านประชาชนจึงขยายตัวออกไปได้ยาก และเมื่อถึงคราวคับขัน และเปนเวลาที่รัฐบาลต้องการความสนับสนุนจากประชาชน เพื่อเลือกทางดำเนินในทางใดทางหนึ่ง ก็อาจจะต้องคลำหาทางไปในความมืด เพราะไม่ทราบว่า เสียงของประชาชนเปนอย่างไร

เราจึงหวังว่า เมื่อเวลาและโอกาสยังมีอยู่อย่างเต็มที่เช่นนี้ นอกจากจะไม่ทำการบีบบังคับแล้ว รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ในกิจการต่างประเทศอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อว่ารัฐบาลจะได้ตรวจสอบดูและนำไปประกอบการดำเนินวิเทโศบายต่อไป เพราะว่าในปัญหาที่เปนความเปนความตายของประเทศนั้น รัฐบาลจำเปนจะต้องได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มที่ และรัฐบาลจะได้รับความสนับสนุนเช่นนั้นจากประชาชน ก็ต่อเมื่อนโยบายหรือทางดำเนินที่รัฐบาลได้เลือกนั้นสอดคล้องกับประชามติ แต่ถ้ารัฐบาลเลือกกระทำในทางตรงกันข้ามกับประชามติแล้ว รัฐบาลก็อาจประสพผลทุกอย่าง เว้นแต่ผลสำเร็จอย่างเดียว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ การเมือง รายสัปดาห์
เวลา : 13 พฤษภาคม พ.ศ.2493

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, เรื่อง “เงื่อนไข... แห่งความสนับสนุนของประชาชน”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 429-432.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “เงื่อนไข... แห่งความสนับสนุนของประชาชน”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 429-432.

บทความที่เกี่ยวข้อง :