ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: หลักฐานของการปกครองโดยผู้แทนราษฎร (ตอน 44)

19
เมษายน
2568

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

 


ลายมือต้นฉบับบทความของกุหลาบ สายประดิษฐ์

 

ในระหว่าง ๒-๓ สัปดาห์นี้มีข่าวครึกโครมอยู่ ๓-๔ รายได้แก่ ๑. เรื่องรถถัง ๒๕๐ คันที่บริษัทสหฟ้าแลบสั่งเข้ามาขายแก่กองทัพบก ๒. เรื่องนักเรียนไม่มีที่เรียน ๓. เรื่องการจับกุมชาวจีนและข่าว ว่าจะมีการจับกุมชาวไทยในคดีการเมืองเปนการใหญ่ต่อไปอีก รวมทั้งข่าวการประกาศกฎอัยยการศึก ๔. รัฐบาลไทยจะเสนอขอทำสัญญาทางทหารกับมหาอำนาจตวันตก มีอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส

ข่าวทั้ง ๔ รายที่ได้เกิดขึ้นอย่างครึกโครมในเวลาติดๆ กันนั้น ล้วนแต่เปนข่าวที่ไม่เปนคุณอะไรแก่สามัญชนเช่นเราๆ ท่านๆ เลยยิ่งกว่าไม่เปนคุณ ข่าวเหล่านั้นยังแสดงถึงว่าประชาชนมีแต่จะต้องชักเนื้อทุกทาง ไม่มีอะไรในข่าวเหล่านั้นที่เปนทางได้ของประชาชนเลย

ข่าวรายแรกและรายที่สองคือเรื่องรถถังของบริษัทสหฟ้าแลบกับเรื่องนักเรียนไม่มีที่เรียนนั้น ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราว และก็ได้มีเสียงชี้แจงออกมาจากทางราชการบ้าง ถึงแม้ออกจะเปนเสียงอ่อยๆ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะลบล้างคำวิพากษ์ได้ ส่วนข่าวรายที่ ๓ และรายที่ ๔ ซึ่งนับว่าเปนเรื่องสำคัญไม่น้อยนั้น ผู้เขียนไม่ได้พบข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือพิมพ์รายวันที่อ่านประจำอยู่ ๔-๕ ฉบับ หนังสือพิมพ์ได้แต่เสนอข่าว แล้วก็พากันนิ่งเงียบ

ตามที่ได้มีข่าวใหญ่หลวงเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะนําประเทศและประชาชนไปผูกพันในเรื่องความเปนความตายของประเทศชาติ และหนังสือพิมพ์หลายฉบับไม่ได้ออกความเห็นสนับสนุนทั้งพากันนิ่งเงียบเสียเฉยๆ เช่นนี้ รัฐบาลจะมีความพอใจว่าไม่มีเสียงคัดค้านโครมครามให้เปนที่รำคาญใจหรืออย่างไรนั้น เราทราบไม่ได้ แต่เราเห็นว่าความนิ่งเงียบต่อการกระทำของรัฐบาล ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของไม่ควรเปนที่ประเทศชาตินั้น เปนความนิ่งเงียบอันเยือกเย็นน่ากลัวยินดีแก่รัฐบาลเลย

การที่รัฐบาลจะเข้าทำสัญญาทางทหารกับมหาอำนาจทั้ง ๓ นั้น ย่อมหมายความว่า รัฐบาลจะนำประเทศและประชาชนไทยเข้าผูกพันกับฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด การตัดสินใจเพื่อนำประชาชนเข้ารับความผูกพันดังกล่าวนั้น ใครๆ ย่อมเห็นว่า รัฐบาลพึงกระทำไปก็ต่อเมื่อได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนและคาดได้แน่นอนแล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่จะสนับสนุนมติของรัฐบาล เพราะว่าในการศึกสงครามนั้น ใช่ว่าจะมีแต่นักการเมือง ๒๐-๓๐ คนเท่านั้นที่เข้ารับภาวะสงคราม หากประชาชนทั้งชาติจะต้องร่วมรับภาระทั่วหน้ากัน ฉะเพาะอย่างยิ่งในเมื่อสงครามในอนาคตจะเปนสงครามระเบิดปรมาณูและไฮโดรเย็น ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิตมนุษย์เหลือที่จะพรรณนาทั้งในการทำศึกสงครามนั้นกำลังรบและกำลังการผลิตต่างๆ ก็จะต้องรวบรวมมาจากประชาชนนั่นเอง ดังนั้น ความสนับสนุนของประชาชนในกรณีเช่นนี้จึงเปนสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ และก็ไม่มีรัฐบาลใดจะบังอาจนำประเทศเข้าร่วมกับฝ่ายใดเพื่อทำศึกสงครามโดยที่ไม่ได้รับความสนับสนุนของประชาชนอย่างหนักแน่น

อาศัยเหตุดังกล่าวนี้เราจึงเห็นว่าความสงบปากเสียงของหนังสือพิมพ์ ในเรื่องสําคัญอย่างยิ่งแก่บ้านเมืองนั้น ไม่ควรเปนที่ยินดีแก่ รัฐบาลเลย ถ้ารัฐบาลประสงค์จะนําประเทศไปตามวิถีทางแห่งประชา มติ และตามความจริง รัฐบาลก็จะเลือกปฏิบัติการโดยวิถีทางอื่นหา ได้ไม่ หากรัฐบาลถือตน หรือพยายามจะตั้งตนไว้ในฐานะเปนตัวแทนของประชาชนส่วนมากจริงๆ

หากหนังสือพิมพ์ส่วนมากพากันสงบปากเสียงเสียแล้ว ก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้ศูนย์เสียอุปกรณ์ที่สำคัญในอันจะสํารวจความคิดเห็นของประชาชนไป อาจเปนได้ที่การแสดงความเห็นได้ลดความกระปรี้กระเปร่าลง เพราะเหตุที่ได้เคยมีการแสดงความเห็นคัดค้านอย่างครึกโครมกันมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีได้หลุดปากออกไปแก่นักข่าวอเมริกันว่า รัฐบาลไทยยินดีจะต้อนรับกองทหารอเมริกันให้เข้ามาตั้งในประเทศ

บางทีการสงบปากเสียงของหนังสือพิมพ์และของนักการเมืองฝ่ายค้านต่อข่าวที่ว่ารัฐบาลจะทำสัญญาทางทหารกับมหาอํานาจตวันตก อาจเนื่องมาแต่ความคุกคามของข่าวที่ว่าจะมีการจับกุมนักการเมืองและบุคคลอื่นเปนการใหญ่ในเร็วๆ นี้ก็เปนได้ ถ้าการปล่อยข่าวเช่นนี้ออกมาได้เปนเหตุให้ใครๆ พากันระงับการแสดงความคิดเห็นแทนเสียงของประชาชนเสียแล้ว

เราเห็นว่าไม่ใช่ข้อที่รัฐบาลควรยินดีเลย ผู้ที่เสียประโยชน์ไม่ใช่แต่เพียงประชาชนซึ่งขาดผู้พูดแทนเขาไปเท่านั้น แม้รัฐบาลเองก็จะตกอยู่ในฐานะของนักเดินเรือที่ปราศจากเข็มทิศ การประกาศกฎอัยการศึกหรือภาวะฉุกเฉินที่แว่วออกมาบ่อยๆ จากกระแสรเสียงทางราชการนั้นก็เหมือนกัน เรามองไม่เห็นเหตุผลเลยว่า รัฐบาลจะนึกสนุกและพากพูมใจได้อย่างไร ในการที่มีข่าวเช่นนี้ออกมาเกรียวกราวอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่หยุดหย่อน เท่าที่เราจะรวบรวมได้นั้น เมื่อมีข่าวคุกคามขวัญและอิสสรภาพของประชาชนเปิดเผยออกมครั้งใด ความเชื่อถือในรัฐบาลก็ได้รับความกระทบกระเทือนทุกครั้ง การใช้กฎหมายพิเศษเพื่อปิดปากประชาชนก็ดี หรือเพื่อจะปราบปรามฝ่ายค้านที่มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองที่ดี ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า รัฐบาลไม่มีทางจะรักษาความเชื่อถือของประชาชนไว้ได้แล้ว จึงจำต้องหันเข้าใช้วิธีการบีบบังคับพิเศษ ดังที่รัฐบาลของเบาไม่ได้ออกคำสั่งให้มีการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ โลกภายนอกก็ลงความเห็นกันได้ทีเดียวว่า รัฐบาลนั้นไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งแสดงออกทางหนังสือพิมพ์เลย รัฐบาลนั้นจะอยู่ได้ก็แต่โดยอาศัยการใช้กําลังอาวุธจากต่างประเทศเท่านั้น

ข้อที่เราแปลกใจก็คือ รัฐบาลไทยปัจจุบันได้พยายามจะแสวงความช่วยเหลือจากอเมริกาอย่างเต็มกำลัง และรัฐบาลอเมริกันก็ได้ประกาศว่า เขาจะให้ความช่วยเหลือก็แต่แก่รัฐบาลที่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเท่านั้น รัฐบาลอเมริกันจะทราบได้อย่างไรว่าประชาชนไทยให้ความสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องใดเพียงใด หากว่าช่องทางระบายความคิดเห็นของประชาชนได้ถูกปิด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมองไม่เห็นเหตุผลว่ารัฐบาลจะมีความยินดีได้อย่างไรต่อการดำเนินการที่จะเปนผลปิดปากเสียงของประชาชนเสีย เราเห็นว่ายังไม่เปนการสายเกินไปที่รัฐบาลจะปรับปรุงท่าที่ใหม่ คือหันเช้าผเชิญความคิดเห็นของประชาชนอย่างองอาจ, เข้าสู่การพิจารณาความคิดเห็นของประชาชนด้วยขันติธรรม และเลือกเฟ้นความคิดเห็นที่คาดหมายได้ว่า แทนความคิดเห็นของประชาชนส่วนมาก ไปปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เราคิดว่าการหันเข้าผเชิญความเปนจริงเช่นนี้เท่านั้น จะเปนทางเดียวที่จะซ่อมแซมความเชื่อถือที่รัฐบาลได้ศูนย์เสียไปแล้ว ให้กลับคืนได้ตามส่วน

รัฐบาลจะต้องไม่ลืมหลักรากฐานข้อหนึ่ง คือการตั้งนโยบายและบริหารนโยบายในเรื่องสลักสำคัญนั้น รัฐบาลจะตั้งและบริหารไปตามอารมณ์หรือตามรสนิยมของคนหนึ่งคนใดไม่ได้ การตั้งและบริหารนโยบายเช่นนั้นเปนเรื่องของพวกพระราชาที่วางตนเปนเจ้าชีวิตของราษฎร ในระบอบปัจจุบันซึ่งรัฐบาลประกอบด้วยผู้แทนราษฎรการตั้งและบริหารนโยบาย ฉะเพาะอย่างยิ่งในกรณีสลักสำคัญ เปนเรื่องที่จะต้องถามประชาชนและรับความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อนทุกครั้งไป นี้เปนหลักรากฐานของการปกครองโดยผู้แทนราษฎร

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 29 พฤษภาคม พ.ศ.2493

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, เรื่อง “หลักฐานของการปกครองโดยผู้แทนราษฎร”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 435-439.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “หลักฐานของการปกครองโดยผู้แทนราษฎร”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 435-439.

บทความที่เกี่ยวข้อง :